กระทรวงมหาดไทยกำลังเตรียมประกาศใช้กฎกระทรวง ออกตาม พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2508 มาตรา 7 ทวิ วรรคสาม โดยมีเนื้อหาใจความเกี่ยวกับเด็กที่เกิดในประเทศไทย แต่เกิดจากพ่อแม่ต่างด้าวที่อยู่ในประเทศไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายคนเข้าเมือง ซึ่งเด็กนั้นจะไม่ได้สัญชาติไทย แต่จะมีสิทธิอยู่ในประเทศไทยแค่ไหนให้เป็นไปตามกฎกระทรวงนี้
โดยกฎกระทรวงมีข้อที่น่าสนใจ คือ
ข้อ ๑ ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยแต่ไม่ได้สัญชาติไทยตามมาตรา ๗ ทวิ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ ให้ถือว่าผู้นั้นเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง เว้นแต่กรณี ดังต่อไปนี้
(ก) กรณีมีบิดาและมารดาเป็นผู้ที่ได้รับการผ่อนผันให้พักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย ตามมาตรา ๗ ทวิ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ ให้ถือว่าเป็นผู้ที่ได้รับการผ่อนผันให้พักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นกรณีพิเศษเฉพาะรายเช่นเดียวกับบิดาและมารดา ภายในระยะเวลาที่บิดาและมารดาได้รับการผ่อนผันให้พักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทย
(ข) กรณีมีบิดาและมารดาเป็นผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าอยู่ในราชอาณาจักรไทยเพียงชั่วคราวตามมาตรา ๗ ทวิ วรรคหนึ่ง (๒) แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ ให้ถือว่าเป็นผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าอยู่ในราชอาณาจักรไทยเพียงชั่วคราวเช่นเดียวกับบิดาและมารดา ภายในระยะเวลาที่บิดาและมารดาได้รับอนุญาตให้เข้าอยู่ในราชอาณาจักรไทย
(ค) กรณีมีบิดาหรือมารดาเป็นผู้ที่ได้รับการผ่อนผันให้พักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นกรณีพิเศษเฉพาะรายหรือเป็นผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าอยู่ในราชอาณาจักรไทยเพียงชั่วคราว ให้ถือว่าเป็นผู้ที่ได้รับการผ่อนผันให้พักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นกรณีพิเศษเฉพาะรายหรือเป็นผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ เข้าอยู่ในราชอาณาจักรไทยเพียงชั่วคราวเช่นเดียวกับบิดาหรือมารดา ภายในระยะเวลาที่บิดาหรือมารดาได้รับการผ่อนผันให้พักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทย
ทั้งนี้ กรณีผู้เกิดตาม (ก) (ข) และ (ค) อาจได้รับสิทธิ เช่น สิทธิด้านการศึกษา สิทธิด้านสาธารณสุข สิทธิการประกอบอาชีพ สิทธิการเดินทาง ที่เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น
ข้อ ๒ ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยแต่ไม่ได้สัญชาติไทยตามมาตรา ๗ ทวิ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ มีบิดาและมารดา หรือบิดาหรือมารดา เป็นผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย ว่าด้วยคนเข้าเมืองตามมาตรา ๗ ทวิ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ ให้ถือว่าเป็นผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง เว้นแต่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรไทย
ซึ่งจากข้อ 1 และ ข้อ 2 จะแบ่งกรณีต่างๆ ได้ดังนี้
1. เด็กที่เกิดจาก บิดาและมารดา เป็นผู้ที่ได้รับการผ่อนผันให้พักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรได้เป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย (เช่น เป็นแรงงานข้ามชาติ หรือ ชนกลุ่มน้อย ที่มีมติคณะรัฐมนตรีผ่อนผันให้) เด็กก็จะมีสิทธิเช่นเดียวกับบิดาและมารดา คือ เป็นผู้ที่ได้รับการผ่อนผันให้พักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรได้เป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย ตามข้อ ๑ (๑)
2. เด็กที่เกิดจาก บิดาและมารดา เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าอยู่ในราชอาณาจักรไทยเพียงชั่วคราว (กรณี เข้ามาในประเทศไทยด้วยหนังสือเดินทางและวีซ่า) เด็กก็จะมีสิทธิเช่นเดียวกับบิดาและมารดา คือ เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าอยู่ในราชอาณาจักรไทยเพียงชั่วคราว ตามข้อ ๑ (๒)
3. เด็กที่เกิดจากบิดาหรือมารดา คนหนึ่งเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ได้รับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ถาวรในราชอาณาจักรไทย อีกคนหนึ่งเป็นผู้ที่ได้รับการผ่อนผันให้พักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรได้เป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย หรือ เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าอยู่ในราชอาณาจักรไทยเพียงชั่วคราว เด็กก็จะมีสิทธิเช่นเดียวกับบิดาหรือมารดา แต่กฎหมายไม่ได้กำหนดชัดเจนว่าหากสิทธิของบิดาหรือมารดาแตกต่างกัน ให้ถือตามสิทธิของบิดาหรือมารดา ตามข้อ ๑ (๓)
4. เด็กที่เกิดจากบิดาและมารดาเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย เด็กก็จะเป็นบุคคลเข้าเมืองผิดกฎหมาย ตามข้อ ๒
5. เด็กที่เกิดจากบิดาหรือมารดา คนหนึ่งเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย อีกคนหนึ่ง เป็นเป็นผู้ที่ได้รับการผ่อนผันให้พักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรได้เป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย หรือ เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าอยู่ในราชอาณาจักรไทยเพียงชั่วคราว หรือ เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ได้รับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ถาวรในราชอาณาจักรไทย เด็กก็จะเป็นบุคคลเข้าเมืองผิดกฎหมาย ตามข้อ๒
กฎกระทรวงนี้ยังกำหนดด้วยว่า หากสิทธิการอยู่ในประเทศไทยของบิดามารดาสิ้นสุดลง สิทธิของเด็กก็ย่อมสิ้นสุดลงไปด้วย ตามข้อ ๓ และ สิทธิการอาศัยจะสิ้นสุดลงก็ต่อเมื่อมีเหตุว่า บุคคลนั้นมีพฤติการณ์ที่กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงหรือประโยชน์ของรัฐ กระทบกระเทือนต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เดินทางออกนอกราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือข้อกำหนดของทางราชการ